ภิกษุทั้งหลาย ! ที่เรากล่าวว่า “กาม นิทานสัมภวะแห่งกาม เวมัตตตาแห่งกาม วิบากแห่งกาม นิโรธแห่งกาม ปฏิปทาให้ถึงซึ่งนิโรธแห่งกาม เป็นสิ่งที่ควรรู้แจ้ง” นั้น เรากล่าวหมายถึงกามไหนกันเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ คือ รูป ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ.... เสียงทั้งหลาย อันจะถึงรู้แจ้งได้ด้วยโสตะ.... กลิ่นทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยฆานะ.... รสทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยชิวหา.... โผฏฐัพพะทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะอันน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มีอยู่,
ภิกษุทั้งหลาย ! อารมณ์ ๕ อย่างเหล่านี้ หาใช่กามไม่ ห้าอย่างเหล่านี้ เรียกกันในอริยวินัยว่า กามคุณ
(คาถาจำกัดความตอนนี้)
ความกำหนัดไปตามอำนาจความตริตรึก (สงฺกปฺปราค) นั่นแหละคือกามของคนเรา อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกนั้นหาใช่กามไม่
ความกำหนัดไปตามอำนาจความตริตรึก นั่นแหละคือกามของคนเรา
อารมณ์อันวิจิตรก็มีอยู่ในโลก ตามประสาของมันเท่านั้น ดังนั้น
ผู้มีปัญญาจึงนำออกเสียซึ่ง ฉันทะ ในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิด) แห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ? นิทานสัมภวะแห่งกาม คือ ผัสสะ
ภิกษุทั้งหลาย ! เวมัตตา (ประมาณต่าง ๆ) แห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เวมัตตตาแห่งกามคือความใคร่ (กาม) ในรูปารมณ์ก็อย่างหนึ่ง ๆ ความใคร่ในสัททารมณ์ก็อย่างหนึ่งๆ ความใคร่ในคันธารมณ์ก็อย่างหนึ่งๆ ความใคร่ในรสารมณ์ก็อย่างหนึ่งๆ ความใคร่ในโผฏฐัพพารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง ๆ ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า เวมัตตาแห่งกาม
ภิกษุทั้งหลาย ! วิบากแห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลใคร่อยู่ซึ่งอารมณ์ (แห่งกาม) ใด เขากระทำอัตตภาพอันเกิดจากกามนั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบุญ ก็ดี มีส่วนแห่งอบุญ ก็ดี ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า วิบากแห่งกาม
ภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธ (ความดับ) แห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธแห่งกามย่อมมี เพราะนิโรธแห่งผัสสะ อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นแล เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งนิโรธแห่งกาม ปฏิปทานั้นได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งกามอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งนิทานสัมภวะแห่งกาม อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเวมัตตตาแห่งกามอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งวิบากแห่งกามอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งกามอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งปฏิปทาให้ถึงซึ่งนิโรธแห่งกามอย่างนี้ ในกาลนั้น อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้อันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสว่าเป็นนิโรธแห่งกาม
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๓๐๗
(บาลี) ฉกฺก. อ. ๒๒/๔๕๘-๔๖๐/๓๓๔.
0 comments:
Post a Comment