/> อารมณ์อันมิใช่โคจร | รัตนะ5 พุทธวจน

อารมณ์อันมิใช่โคจร

Photo Credit : grit
เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถ
เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์



สกุณัคฆีสูตร 
ว่าด้วยอารมณ์โคจร 

[๖๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถ โดยรวดเร็ว ครั้งนั้น นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวนำไป ได้รำพันอย่างนี้ว่า เราเป็นคนอับโชค มีบุญน้อย ที่เที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ถ้าวันนี้เราไปเที่ยวในถิ่นอันเป็นของบิดาตน ซึ่งควรเที่ยวไปไซร้ เหยี่ยวตัวนี้เราอาจต่อสู้ได้ 

เหยี่ยวจึงถามว่า แน่ะนกมูลไถ ก็ถิ่นซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นที่หากินของเจ้าเป็น เช่นไร? 

นกมูลไถตอบว่า คือ ที่ๆ มีก้อนดิน ซึ่งเขาทำการไถไว้. 

ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างกำลังของตน ปล่อยนกมูลไถไป พร้อมด้วยบอกว่า เจ้าจงไปเถิดนกมูลไถ เจ้าจะไปแม้ในที่นั้นก็ไม่พ้นเราได้ นกมูลไถจึงไปยังที่ๆมีก้อนดินซึ่งเขาทำการไถไว้ ขึ้นสู่ก้อนดินก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวอยู่ว่า แน่ะเหยี่ยว บัดนี้ท่าน จงมาจับเราเถิด ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างในกำลังของตน จึงห่อปีกทั้ง ๒ โฉบนกมูลไถโดยรวดเร็ว 

ครั้งใด นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้โฉบลงมาเร็วจะจับเรา ครั้งนั้น ก็หลบเข้าซอกดินนั้นเอง เหยี่ยวยังอกให้กระแทกดิน (ตาย) ในที่นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนก มูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ย่อมเป็นเช่นนี้แล. 

[๖๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์ ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร? คือ กามคุณ ๕ 

กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ 
  • รูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด 
  • เสียงที่พึงรู้ด้วยหู อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด 
  • กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด 
  • รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด 
  • โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อารมณ์อื่น มิใช่โคจรของภิกษุ. 

[๗๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดา อันเป็นของโคจร คืออะไร? คือ สติ
ปัฏฐาน ๔ 

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
  • ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
  • ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
  • ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
  • ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อารมณ์ซึ่ง เป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ

จบ สูตรที่ ๖

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค





Booking.com


Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment