/> สัตบุรุษ | รัตนะ5 พุทธวจน

สัตบุรุษ

สัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ ภักดีต่อสัตบุรุษ มีความคิดอย่างสัตบุรุษ มีความรู้อย่างสัตบุรุษ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ มีการงานอย่างสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ


[๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ หรือไม่หนอ ฯ 

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็น สัตบุรุษ นั่น เป็นฐานะที่มีได้ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่าผู้นี้เป็น อสัตบุรุษไหมเล่า ฯ 

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ นั่นก็เป็นฐานะที่มีได้ ฯ 

[๑๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษ
  • ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ 
  • ภักดีต่อสัตบุรุษ 
  • มีความคิดอย่างสัตบุรุษ 
  • มีความรู้อย่างสัตบุรุษ 
  • มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ 
  • มีการงานอย่างสัตบุรุษ 
  • มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ 
  • ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ 

[๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ อย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ของสัตบุรุษ ฯ 

[๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติ ตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย 

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ ฯ 

[๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษ ในโลกนี้ 
  • ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง 
  • ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น 
  • ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่นทั้งสองฝ่าย 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่าง สัตบุรุษ ฯ 

[๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษ ในโลกนี้ 
  • ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง 
  • ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
  • ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้อย่าง สัตบุรุษ ฯ 

[๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษ ในโลกนี้ 
  • เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ 
  • งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด 
  • งดเว้นจากคำหยาบ 
  • งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ ฯ 

[๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษ ในโลกนี้ 
  • เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต 
  • งดเว้นจากอทินนาทาน 
  • งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีการงาน อย่างสัตบุรุษ ฯ 

[๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษ ในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า 
  • ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล 
  • ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่
  • โลกนี้มี โลกหน้ามี 
  • มารดามี บิดามี 
  • สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี 
  • สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่ 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ฯ 

[๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ 
  • ย่อมให้ทานโดยเคารพ
  • ทำความอ่อนน้อมให้ทาน 
  • ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ 
  • เป็นผู้มีความ เห็นว่ามีผล จึงให้ทาน 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ 

[๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษนั่นแหละ 
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษอย่างนี้ 
  • ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างนี้ 
  • มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ 
  • มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างนี้ 
  • มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ 
  • มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้
  • มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ 
  • ให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว 
เมื่อตายไป ย่อมบังเกิดในคติของสัตบุรุษ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คติของ สัตบุรุษ คืออะไร คือ ความเป็นผู้มีตนควรบูชาในเทวดา หรือความเป็นผู้มีตนควรบูชาในมนุษย์ ฯ 

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล ฯ 

จบ จูฬปุณณมสูตร ที่ ๑๐ 
จบ เทวทหวรรค ที่ ๑

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์



Video Credit : Prof. Dr. Gerhard Rolf Engelking and his Family


Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment