/> ธรรม ๘ ประการของผู้ครองเรือน | รัตนะ5 พุทธวจน

ธรรม ๘ ประการของผู้ครองเรือน

Photo Credit: NarakornPhotography
ผู้ครองเรือน
ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระนามอันแท้จริงตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้และความสุขในภายหน้า บุญ คือ จาคะนี้ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ด้วยประการฉะนี้ ฯ



ทีฆชาณุสูตร

[๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกฬิยะชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชื่อทีฆชาณุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด ฯ 


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ 

ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร 


๔ ประการเป็นไฉนคือ 
  • อุฏฐานสัมปทา ๑ 
  • อารักขสัมปทา ๑ 
  • กัลยาณมิตตตา ๑ 
  • สมชีวิตา ๑ ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่น ประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา

ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัวชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก จะไม่พึงลักไป ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา

ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือ นิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา

ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อม แห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนักไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้


ดูกรพยัคฆปัชชะเปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้

ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถงจะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา 

แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา

ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ 
  • เป็นนักเลงหญิง ๑ 
  • เป็นนักเลงสุรา ๑ 
  • เป็นนักเลงการพนัน
  • มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ 
ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเสื่อมอย่างเดียว ไม่มีความเจริญเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่วเพื่อนชั่ว ๑ ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ 
  • ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ 
  • ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ 
  • ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ 
  • มีมิตรดี สหายดีเพื่อนดี ๑ 
ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรดีสหายดี เพื่อนดี ๑ 

ดูกรพยัคฆปัชชะธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะ 

ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้า แก่กุลบุตร 


ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ 
  • สัทธาสัมปทา ๑ 
  • สีลสัมปทา ๑ 
  • จาคสัมปทา ๑ 
  • ปัญญาสัมปทา ๑ ฯ 
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีศรัทธาคือ เชื่อ พระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะ สีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้น จากปาณา ติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสีลสัมปทา ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีจิตปราศจากมลทินคือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่มยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่าจาคสัมปทา ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา 

ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร ฯ 

คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระทาง สัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ 

ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระนามอันแท้จริงตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้และความสุขในภายหน้า บุญ คือ จาคะนี้ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ด้วยประการฉะนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๔

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต




Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment