Pages

Pages

Sunday, September 11, 2016

การทำบุญที่ได้บาป

 Photo Credit : thairath
ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า ต้องฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคเมียเท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาคิดว่าจะทำบุญแต่กลับทำบาป คิดว่าจะทำกุศลกลับทำอกุศล คิดว่าจะแสวงหาทางสุคติกลับแสวงหาทางทุคติ



อัคคิสูตรที่ ๒
[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อุคคตสรีรพราหมณ์ตระเตรียมมหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐๐ แพะ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลัก เพื่อบูชายัญ ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ อุคคตสรีรพราหมณ์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ 

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อความทั้งหมดของข้าพระองค์สมกันกับข้อความของท่านพระโคดม ฯ เมื่ออุคคตสรีรพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะอุคคตสรีรพราหมณ์ว่า 

ดูกรพราหมณ์ ท่านไม่ควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ท่านควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดตักเตือนสั่งสอนข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์เถิด 

ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอท่านพระโคดมโปรดตักเตือนสั่งสอนข้อที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุข ตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ 

ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นย่อมเงื้อศาตรา ๓ ชนิด อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ศาตรา ๓ ชนิดเป็นไฉน คือ 
  • ศาตราทางกาย ๑
  • ศาตราทางวาจา ๑ 
  • ศาตราทางใจ ๑ 
ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า ต้องฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัวลูกโคเมียเท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ 
เขาคิดว่าจะทำบุญแต่กลับทำบาป คิดว่าจะทำกุศลกลับทำอกุศล คิดว่าจะแสวงหาทางสุคติกลับแสวงหาทางทุคติ 
ดูกรพราหมณ์ 
  • บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตรา ทางใจข้อที่ ๑ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไรมีทุกข์เป็นวิบาก ฯ 
  • อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นที่เดียว ย่อมกล่าววาจา (สั่ง) อย่างนี้ว่า จงฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัวลูกโคเมียเท่านี้ตัว แพะ เท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาสั่งว่าจะทำบุญกลับทำบาป เขาสั่งว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล เขาสั่งว่าจะแสวงหาทางสุคติกลับแสวงหาทางทุคติ ดูกรพราหมณ์ เมื่อบุคคลจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางวาจาข้อที่ ๒ นี้ อันเป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ฯ 
  • อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมลงมือด้วยตนเองก่อน คือต้องฆ่าโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมียแพะ แกะ เพื่อบูชายัญ เขาลงมือว่าจะทำบุญ กลับทำบาป ลงมือว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล ลงมือว่าจะแสวงหา ทางสุคติ กลับแสวงหาทางทุคติ ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการ บูชายัญ เบื้องต้นทีเดียวย่อมเงื้อศาตราทางกายข้อที่ ๓ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดูกรพราหมณ์ 
บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้น ทีเดียว ย่อมเงื้อศาตรา ๓ อย่างนี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก 

ดูกรพราหมณ์ ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้ ๓ กองเป็นไฉน
  • ไฟคือ ราคะ ๑ 
  • ไฟคือโทสะ ๑ 
  • ไฟคือโมหะ ๑ 
ดูกรพราหมณ์ 
  • ก็เพราะเหตุไรจึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะนี้ เพราะบุคคลผู้กำหนัดอันราคะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะนี้ 
  • ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพ ไฟคือโทสะนี้ เพราะบุคคลผู้โกรธ อันโทสะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพ ไฟคือโทสะนี้ 
  • ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้ เพราะบุคคลผู้หลง อันโมหะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้ 
ดูกรพราหมณ์ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้แล 

ดูกรพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้ เป็นสุขโดยชอบ ๓ กองเป็นไฉนคือ 
  • ไฟคืออาหุไนยบุคคล ๑ 
  • ไฟคือคหบดี ๑ 
  • ไฟคือทักขิไณยบุคคล ๑ 
ดูกรพราหมณ์ 
  • ก็ไฟคืออาหุไนยบุคคลเป็นไฉน ดูกรพราหมณ์ คนในโลกนี้ คือมารดาหรือบิดา เรียกว่าไฟคืออาหุไนยบุคคล ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะบุคคลเกิดมาแต่มารดาบิดานี้ ฉะนั้น ไฟคืออาหุไนยบุคคล จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้ เป็นสุขโดยชอบ 
  • ก็ไฟคือคหบดีเป็นไฉน คนในโลกนี้ คือ บุตร ภรรยา ทาส หรือคนใช้ นี้เรียกว่าไฟคือคหบดี ฉะนั้น ไฟคือคหบดีจึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้ เป็นสุขโดยชอบ 
  • ก็ไฟคือทักขิไณยบุคคลเป็นไฉน สมณพราหมณ์ในโลกนี้ งดเว้นจากความ มัวเมาประมาทตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนจิตใจให้สงบ ดับร้อนได้เป็นเอก นี้เรียกว่า ไฟคือทักขิไณยบุคคล ฉะนั้น ไฟคือทักขิไณยบุคคลนี้ จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ 
ดูกรพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้แลควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ส่วนไฟที่เกิดแต่ไม้ พึงก่อให้โพลงขึ้น พึงเพ่งดู พึงดับ พึงเก็บไว้ตามกาลที่สมควร ฯ 

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรง จำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้จะปล่อยโคผู้ ๕๐๐ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ให้ชีวิต มัน พวกมันจะได้พากันไปกินหญ้าอันเขียวสด ดื่มน้ำเย็นสะอาด และรับลมอันเย็นสดชื่น ฯ 

จบสูตรที่ ๔

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต





Booking.com

No comments:

Post a Comment