Photo Credit : mumkhao
|
บุคคลเห็นอยู่ซึ่งพรหมจรรย์นั้นอย่างนี้ว่า พรหมจรรย์ที่บริสุทธิ์กว่าพึงมี ดังนี้ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลชื่อว่า ย่อมไม่เห็นพรหมจรรย์นั่น นี้แหละเรียกว่า บุคคลเห็นอยู่ชื่อว่าย่อมไม่เห็น
|
[๑๐๗] ดูกรจุนทะ เท่าที่ศาสดาทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในโลก ในบัดนี้เราไม่พิจารณาเห็นศาสดาอื่นสักผู้หนึ่ง ผู้ถึงความเลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศเหมือนเรา ดูกรจุนทะ อนึ่ง เท่าที่สงฆ์หรือคณะเกิดขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เราไม่พิจารณาเห็นสงฆ์หรือคณะสักหมู่หนึ่งหรือคณะหนึ่งซึ่งถึงความเลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศเหมือนภิกษุสงฆ์เลย
ดูกรจุนทะ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบพึงกล่าวพรหมจรรย์นั้นใดว่า เป็นพรหมจรรย์สมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง ประกาศไว้ดีแล้ว ดังนี้
บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวพรหมจรรย์นั้นนี้แหละว่า เป็นพรหมจรรย์สมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง ประกาศไว้ดีแล้ว ดังนี้ ฯ
ดูกรจุนทะ ได้ยินว่า อุทกดาบสรามบุตรกล่าววาจาอย่างนี้ว่า บุคคลเห็นอยู่ชื่อว่าย่อมไม่เห็น บุคคลเห็นอยู่ซึ่งอะไร จึงชื่อว่าย่อมไม่เห็น "บุคคลเห็นพื้นแห่งมีดโกนอันลับดีแล้ว แต่จะไม่เห็นคมแห่งมีดโกนนั้น"
ดูกรจุนทะ ข้อนี้อันอุทกดาบสรามบุตรกล่าวว่า บุคคลเห็นอยู่ชื่อว่าย่อมไม่เห็น ดูกรจุนทะ ก็คำนี้นั้นแล อันอุทกดาบสรามบุตรกล่าวแล้ว เป็นคำเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ "เพราะหมายเอามีดโกนเท่านั้น"
ดูกรจุนทะ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบพึงกล่าวคำนั้นใดแลว่า บุคคลเห็นอยู่ชื่อว่าย่อมไม่เห็น ดังนี้ บุคคลเห็นอยู่ซึ่งอะไร จึงชื่อว่าย่อมไม่เห็น?
บุคคลเห็นอยู่อย่างนี้ว่า พรหมจรรย์อันสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นพรหมจรรย์อันท่านผู้เป็นศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว ดังนี้
ด้วยเหตุดังนี้แล ในคำนั้น บุคคลพึงนำคำนี้ว่า บุคคลย่อมไม่เห็นนั้นออกเสีย บุคคลเห็นอยู่ซึ่งพรหมจรรย์นั้นอย่างนี้ว่า พรหมจรรย์ที่บริสุทธิ์กว่าพึงมี ดังนี้ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลพึงนำคำนี้ว่า บุคคลย่อมไม่เห็นนั้นเข้าไว้ในคำนั่น
บุคคลเห็นอยู่ซึ่งพรหมจรรย์นั้นอย่างนี้ว่า พรหมจรรย์ที่บริสุทธิ์กว่าพึงมี ดังนี้ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลชื่อว่า ย่อมไม่เห็นพรหมจรรย์นั่น นี้แหละเรียกว่า บุคคลเห็นอยู่ชื่อว่าย่อมไม่เห็น
ดูกรจุนทะ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวพรหมจรรย์อันสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้วบริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นพรหมจรรย์อันศาสดาประกาศดีแล้วดังนี้ บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวพรหมจรรย์นั่นนี้ว่า พรหมจรรย์อันสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง อันศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นพรหมจรรย์อันศาสดาประกาศดีแล้ว ดังนี้ ฯ
[๑๐๘] เพราะเหตุดังนี้นั่นแหละ จุนทะ
ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นใด อันเราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ ในธรรมเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงเป็นไปตลอดกาลยืดยาว ตั้งมั่นอยู่ สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ดูกรจุนทะ ก็ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น อันเราแสดงแล้วด้วยความรู้ยิ่งเป็นไฉน ที่บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ โดยวิธีที่พรหมจรรย์ นี้จะพึงตั้งอยู่ตลอดกาลยืดยาวตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายคืออะไรบ้าง คือ
- สติปัฏฐาน ๔
- สัมมัปปธาน ๔
- อิทธิบาท ๔
- อินทรีย์ ๕
- พละ ๕
- โพชฌงค์ ๗
- อริยมรรคมีองค์ ๘
ดูกรจุนทะ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล อันเราแสดงแล้วด้วยความรู้ยิ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ตลอดกาลยืดยาว ตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๑
สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
No comments:
Post a Comment