Photo Credit : darwinguevarra
|
เมื่อบุตรเจ็บไข้ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงเจ็บไข้ บุตรของเราอย่าเจ็บไข้ ก็หรือว่า เมื่อมารดาเจ็บไข้ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงเจ็บไข้ มารดาของเราอย่าเจ็บไข้ |
ภยสูตร
[๕๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย ภัย ๓ อย่างเป็นไฉน
- ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่มีการเกิดไฟไหม้ใหญ่ เมื่อ เกิดไฟไหม้ใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกไฟเผา แม้นิคมก็ถูกไฟเผา แม้นครก็ถูกไฟเผา เมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดีถูกไฟเผาอยู่ ในที่นั้นๆ แม้มารดาก็ไม่พบบุตร แม้บุตรก็ไม่พบมารดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าวภัยข้อที่ ๑ นี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย ฯ
- อีกประการหนึ่ง สมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้น มีอยู่ ก็เมื่อมหาเมฆตั้งขึ้นแล้ว ย่อมเกิดห้วงน้ำใหญ่ เมื่อเกิดห้วงน้ำใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกน้ำพัดไป แม้นิคมก็ถูกน้ำพัดไป เมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกน้ำพัดไปอยู่ ในที่นั้นๆ แม้มารดาก็ไม่พบบุตร แม้บุตรก็ไม่พบมารดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าวภัยข้อที่ ๒ นี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย ฯ
- อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัยคือโจรป่ากำเริบ พวกชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสมัยที่มีภัยคือโจรป่ากำเริบ เมื่อชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป ในที่ นั้นๆ แม้มารดาก็ไม่พบบุตร แม้บุตรก็ไม่พบมารดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าวภัยข้อที่ ๓ นี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าว ภัย ๓ อย่างนี้แลว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าว สมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ๓ อย่างนี้นั้นแลว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย ภัย ๓ อย่างนั้น เป็นไฉน
- ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่มีการเกิดไฟไหม้ใหญ่ เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกไฟเผา แม้นิคมก็ถูกไฟเผา แม้นครก็ถูกไฟเผา แม้บ้านก็ดีนิคมก็ดี นครก็ดี ถูกไฟเผาอยู่ สมัยที่ มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็พบมารดา เป็นบางครั้งบางแห่ง มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าว สมาตาปุตติกภัย แท้ๆ ข้อที่ ๑ นี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย ฯ
- อีกประการหนึ่ง สมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้นมีอยู่ ก็เมื่อมหาเมฆตั้งขึ้นแล้ว ย่อมเกิดห้วงน้ำ ใหญ่ เมื่อเกิดห้วงน้ำใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกน้ำพัดไป แม้นิคมก็ถูกน้ำพัดไป แม้นครก็ถูกน้ำ พัดไป เมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกน้ำพัดไปอยู่ สมัยที่มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็พบ มารดา เป็นบางครั้งบางแห่ง มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าว สมาตาปุตติกภัย แท้ๆ ข้อที่ ๒ นี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย ฯ
- อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัยคือโจรป่ากำเริบ พวกชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป ก็เมื่อภัยคือโจรป่ากำเริบ เมื่อพวกชาวชนบทต่างพากันขึ้นยานหนีไป สมัยที่มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็พบมารดา เป็นบางครั้งบางแห่งมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าว สมาตาปุตติกภัย แท้ๆ ข้อที่ ๓ นี้ว่า เป็น อมาตาปุตติกภัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓อย่างนี้แลซึ่งเป็นสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ว่า เป็นอมาตาปุตติกภัย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่างนี้ เป็น อมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนั้นเป็นไฉน คือ
- ภัยคือความแก่ ๑
- ภัยคือความเจ็บ ๑
- ภัยคือความตาย ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
- เมื่อบุตรแก่ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวัง ดังนี้ว่า เราจงแก่ บุตรของเราอย่าได้แก่ ก็หรือว่า เมื่อมารดาแก่ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงแก่ มารดาของเราอย่าได้แก่
- เมื่อบุตรเจ็บไข้ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวัง ดังนี้ว่า เราจงเจ็บไข้ บุตรของเราอย่าเจ็บไข้ ก็หรือว่า เมื่อมารดาเจ็บไข้ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงเจ็บไข้ มารดาของเราอย่าเจ็บไข้
- เมื่อบุตรกำลังจะตาย มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวัง ดังนี้ว่า เราจงตาย บุตรของเราอย่าได้ตาย ก็หรือว่า เมื่อมารดากำลังจะตาย บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงตาย มารดาของเราอย่าได้ตาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่างนี้แล เป็น อมาตาปุตติกภัย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละ เพื่อก้าวล่วง สมาตาปุตติกภัย ๓ อย่าง นี้ และ อมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้ มีอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละ เพื่อก้าวล่วง สมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้ และ อมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้เป็นไฉน คืออริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แล กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไป เพื่อละเพื่อก้าวล่วง สมาตาปุตติกภัย ๓ อย่าง และ อมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้แล ฯ
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๑๗๐ - ๑๗๒ ข้อที่ ๕๐๒
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๑๗๐ - ๑๗๒ ข้อที่ ๕๐๒
0 comments:
Post a Comment