/> ปัจจัยแห่งความตาย | รัตนะ5 พุทธวจน

ปัจจัยแห่งความตาย


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐชื่อนาทิกะ  ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาค

ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว  กระทำให้มากแล้ว  ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไรกระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมาย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้  เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้  ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดัง  ศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่  ภิกษุนั้น พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน ไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนสิ้นไป กลางวันเวียนมาถึง

       ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่อง

       พึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

        เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้  ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้  มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงทำอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวัน  มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย  สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง  เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนบุคคลมีผ้าถูกไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้  พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ  ความเพียร

       ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้ทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ

(ไทย) องฺ.สตฺตก.๒๓/๒๕๕/๑๗๑:คลิกดูพระสูตร

(บาลี) องฺ.สตฺตก.๒๓/๓๓๐/๑๗๑:คลิกดูพระสูตร

Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment