/> อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ | รัตนะ5 พุทธวจน

อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ

Photo Credit : isabel-dietrich
บำเรอไฟ, บูชาไฟ
ดูกรจุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วย อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ ถึงแม้จะบำเรอไฟก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง


จุนทสูตร

อกุศลกรรมบถ 


[๑๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ส่วนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ใกล้เมืองปาวา ครั้งนั้นแล นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะนาย จุนทกัมมารบุตรว่า 

ดูกรจุนทะ ท่านชอบใจความสะอาดของใครหนอ นายจุนทกัมมารบุตร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดไว้ ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์พวกนั้น ฯ 

ดูกรจุนทะ ก็พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดไว้อย่างไรเล่า ฯ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมชักชวนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่พึงจับต้องแผ่นดิน ถ้าไม่จับต้องแผ่นดิน พึงจับต้องโคมัยสด ถ้าไม่จับต้องโคมัยสด พึงจับต้องหญ้าเขียวสด ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด พึงบำเรอไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟพึงประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ถ้าไม่ประนมอัญชลีนอบน้อม พระอาทิตย์พึงลงน้ำ ๓ ครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ ชาวปัจฉาภูมิผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตรย่อมบัญญัติความสะอาดอย่างนี้แล ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์พวกนั้น ฯ 

ดูกรจุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดโดยประการอื่นส่วนความสะอาดในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีโดยประการอื่น ฯ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความสะอาดในวินัยของพระอริยะย่อมมีอย่างไรเล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ความสะอาดในวินัยของพระอริยะมีอยู่ด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยประการนั้นเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนทะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า 

ดูกรจุนทะ 

  • ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง 
  • ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง 
  • ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง ฯ 

ดูกรจุนทะ ก็ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า 


ดูกรจุนทะบุคคล บางคนในโลกนี้ 
  • เป็นผู้มีปรกติฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต ๑ 
  • เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ คือ ถือเอาวัตถุอันเป็น อุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑ 
  • เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่ มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา สตรีมีสามี ผู้มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีผู้ที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑
ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล ฯ 

ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างไรเล่า 


ดูกรจุนทะบุคคลบางคนในโลกนี้ 
  • เป็นผู้มีปรกติพูดเท็จ คือ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลาง เสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น ดังนี้ บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้กล่าวว่ารู้ หรือเมื่อรู้กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นกล่าวว่าเห็น หรือเมื่อเห็นกล่าวว่าไม่เห็น ดังนี้ เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการดังนี้ ๑ 
  • เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกันหรือส่งเสริมชนทั้งหลายผู้แตก กันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกันเพลิดเพลินในความแยกกัน กล่าวแต่คำที่ทำ ให้แยกกัน ๑ 
  • เป็นผู้พูดคำหยาบ คือกล่าววาจาที่หยาบคายกล้าแข็ง ทำให้ผู้อื่นข้องใจ เดือดร้อน แก่ผู้อื่น ใกล้ต่อ ความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑ 
  • เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐานไม่มีที่อ้าง ไม่ มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร ๑ 
ดูกรจุนทะความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง อย่างนี้แล ฯ


ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า 


ดูกรจุนทะบุคคลบางคน ในโลกนี้ 
  • เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น คือ อยากได้วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เป็นเครื่องปลื้มใจแห่ง ผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอ วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑ 
  • เป็นผู้มีจิตปองร้าย คือ มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้เป็นแล้ว ดังนี้ ๑ 
  • เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริต ว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบผู้ทำโลกนี้และโลกหน้า ให้แจ้งชัดด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ย่อมไม่มีในโลก ดังนี้ ๑ 
ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาด ทางใจมี ๓ อย่างอย่างนี้แล ฯ 

ดูกรจุนทะ อกุศลกรรมบถมี ๑๐ ประการนี้แล 


ดูกรจุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วย อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ 
  • ถึงแม้จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดินก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้ไม่จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้จับต้องหญ้าอันเขียวสด ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้ไม่จับต้องหญ้าอันเขียวสด ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้เป็นผู้ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่ นั่นเอง 
  • ถึงแม้จะเป็นผู้ไม่ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
  • ถึงแม้จะลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะไม่ลงน้ำ ๓ ครั้ง ทั้งเวลาเย็เวลาเช้าก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง 
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นความไม่สะอาดด้วย เป็นตัวกระทำไม่สะอาดด้วย 

ดูกรจุนทะ ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ นรกจึงปรากฏกำเนิดดิรัจฉานจึงปรากฏ เปรตวิสัยจึงปรากฏ หรือว่าทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี ฯ 


พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต



Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment