Photo Credit : tgdaily
บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ ถึงแม้บำเรอไฟ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่บำเรอไฟก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง |
จุนทสูตร
กุศลกรรมบถ
ดูกรจุนทะ
- ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง
- ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง
- ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง ฯ
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะบุคคลบางคนในโลกนี้
- ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความ เอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ๑
- ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาวัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑
- ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ ประพฤติผิดในกาม ไม่ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษาพี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา มีสามี มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรี ที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล ฯ
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะบุคคลบางคน ในโลกนี้
- ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น บุรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่ง ผู้อื่นบ้าง หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ๑
- ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังข้าง นี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อทำลาย คนหมู่โน้น สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีคนผู้พร้อมเพรียงกันเพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ๑
- ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ ๑
- ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจาก คำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัยพูดแต่คำ มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ๑
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างนี้แล ฯ
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะบุคคลบางคนในโลกนี้
- ไม่อยากได้ของผู้อื่น คือ ไม่อยากได้วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอ วัตถุที่เป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้ม แห่งผู้อื่นของ บุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑
- ไม่มีจิตปองร้าย คือ ไม่มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า สัตว์ เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความมุ่งร้ายกัน ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิดดังนี้ ๑
- มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชา มีผล ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีโลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ผู้เป็น อุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ ดังนี้ ๑
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล ฯ
ดูกรจุนทะ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แล
ดูกรจุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศล กรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่
- ถึงแม้จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ไม่จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้จับต้องหญ้าอันเขียวสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ไม่จับต้องหญ้าอันเขียวสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้บำเรอไฟ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ไม่บำเรอไฟ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ไม่ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้สะอาด อยู่นั่นเอง
- ถึงแม้ไม่ลงน้ำ ๓ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็นความสะอาดด้วย เป็นตัวทำให้สะอาดด้วย
ดูกรจุนทะ ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ หรือว่าสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว นายจุนทะกัมมารบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็น ต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
หน้าที่ ๒๓๘ - ๒๔๒ ข้อที่ ๑๖๕พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
ว่าด้วย กุศลกรรมบถ และ อกุศลกรรมบถ
Booking.com
No comments:
Post a Comment