/> เหตุทำให้ต่างกันระหว่างตถาคตกับอรหันต์ | รัตนะ5 พุทธวจน

เหตุทำให้ต่างกันระหว่างตถาคตกับอรหันต์

Photo Credit: a2ua
ข้อแตกต่างกันระหว่างตถาคตกับอรหันต์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง อันนี้แล เป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา


๖. พุทธสูตร 

ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า 

[๑๒๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป  เพราะไม่ถือมั่นเวทนา เพราะไม่ถือมั่นสัญญา เพราะไม่ถือมั่นสังขาร เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ เทวดาและมนุษย์ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เพราะไม่ถือมั่นเวทนา เพราะไม่ถือมั่นสัญญา เพราะไม่ถือมั่นสังขาร เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ เราเรียกว่า ผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

[๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นจะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน จะมีอะไรเป็นข้อประสงค์ที่ยิ่งกว่ากัน จะมีอะไรเป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา? 

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับ เป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง ประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง อันนี้แล เป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา 

จบ สูตรที่ ๖

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๗
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

Booking.com

Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment