/> อานิสงส์ในการฟังพุทธวจนก่อนกระทำกาละ | รัตนะ5 พุทธวจน

อานิสงส์ในการฟังพุทธวจนก่อนกระทำกาละ

Photo Credit : livescience
อานิสงส์ในการฟังพุทธวจนก่อนกระทำกาละ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆาวุอุบาสกที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทโดยย่อ กระทำกาละแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพของเขาเป็นอย่างไร?


ฑีฆาวุสูตร 

องค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา 

[๑๔๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปนสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ฑีฆาวุอุบาสกป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้เชิญ คฤหบดีชื่อโชติยะ ผู้เป็นบิดามาสั่งว่า ข้าแต่คฤหบดี ขอท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วถวาย บังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูลตามคำของผมว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฑีฆาวุอุบาสกป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาททั้งสองของ พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงพระกรุณาเสด็จไปยังนิเวศน์ของฑีฆาวุอุบาสก โชติยคฤหบดีรับคำฑีฆาวุอุบาสกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 

[๑๔๑๗] ครั้นแล้ว โชติยคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฑีฆาวุอุบาสกป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า และเขากราบทูลมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณาเสด็จไปยังนิเวศน์ของฑีฆาวุอุบาสก พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วย ดุษณีภาพ

[๑๔๑๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยัง นิเวศน์ของฑีฆาวุอุบาสก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ แล้วได้ตรัสถามฑีฆาวุอุบาสกว่า 

ดูกรฑีฆาวุอุบาสก ท่านพอจะอดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ละหรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลา ย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏแลหรือ ฑีฆาวุอุบาสก กราบทูลว่า 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาย่อมไม่ปรากฏ

[๑๔๑๙] ดูกรฑีฆาวุ เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ จักเป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรฑีฆาวุ ท่านพึงศึกษา อย่างนี้แหละ

[๑๔๒๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็เห็นชัดในธรรมเหล่านั้น ข้าพระองค์ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ

ดูกรทีฆาวุ เพราะฉะนั้นแหละ ท่านตั้งอยู่ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ เหล่านี้แล้ว พึงเจริญธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ๖ ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป

[๑๔๒๑] ดูกรทีฆาวุ ท่านจงพิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยง มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า เป็นทุกข์ มีความสำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่า เป็นอนัตตา มีความสำคัญ ในการละ มีความสำคัญในความคลายกำหนัด มีความสำคัญในการดับ ดูกรฑีฆาวุ ท่านพึงศึกษา อย่างนี้แล

[๑๔๒๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ๖ ประการเหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็เห็นชัดในธรรมเหล่านั้น ข้าพระองค์พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่า เป็นของไม่เที่ยง มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า เป็นทุกข์ ... มีความสำคัญในความดับ อีกอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์มีความคิด อย่างนี้ว่า โชติยคฤหบดีนี้ อย่าได้ถึงความทุกข์โดยล่วงไปแห่งข้าพระองค์เลย โชติยคฤหบดีได้ กล่าวว่า พ่อทีฆาวุ พ่ออย่าได้ใส่ใจถึงเรื่องนี้เลย พ่อทีฆาวุ จงใส่ใจพระพุทธพจน์ที่พระผู้มี พระภาคตรัสแก่ท่านให้ดีเถิด

[๑๔๒๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสอนทีฆาวุอุบาสกด้วยพระโอวาทนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ทีฆาวุอุบาสก กระทำกาละ แล้ว

[๑๔๒๔] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆาวุอุบาสกที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทโดยย่อ กระทำกาละแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพของเขาเป็นอย่างไร? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทีฆาวุอุบาสกเป็นบัณฑิต มีปกติพูดจริง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่ยังตนให้ลำบาก เพราะมีธรรมเป็นเหตุ ทีฆาวุอุบาสกเป็น อุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป 

จบ สูตรที่ ๓

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค






Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment