/> ธรรมมีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง | รัตนะ5 พุทธวจน

ธรรมมีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง

Image source: watnapp
ธรรมมีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง
ถ้าบุคคลไม่พึงฟังซึ่งธรรมแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงทรงธรรมไว้ได้ เพราะเหตุที่เขาฟังซึ่งธรรม เขาจึงทรงธรรมไว้ได้. เพราะเหตุนั้น การฟังซึ่งธรรม จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงไว้ซึ่งธรรม


“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ย่อมมีด้วยการกระทำ เพียงเท่านี้. บุคคลชื่อว่าย่อมตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้. อนึ่ง ข้าพเจ้าก็มุ่งหวังซึ่งการตามบรรลุซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้...” กาปทิกมาณพนั้น ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง

ภารท๎วาชะ ! การตั้งตนไว้ในธรรม (ปธาน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง : ถ้าบุคคลไม่ตั้งตนไว้ในธรรมแล้วไซร้เขาก็ไม่พึงตามบรรลุถึงซึ่งความจริงได้. เพราะเหตุที่เขาตั้งตนไว้ในธรรม เขาจึงบรรลุถึงซึ่งความจริง, เพราะเหตุนั้น การตั้งตนไว้ในธรรม จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง.

ภารท๎วาชะ ! การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม (ตุลนา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตั้งตนไว้ในธรรม : ถ้าบุคคลไม่พบความสมดุลแห่งธรรมนั้นแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงตั้งตนไว้ในธรรม. เพราะเหตุที่เขาพบซึ่งความสมดุลแห่งธรรม เขาจึงตั้งตนไว้ในธรรม ; เพราะเหตุนั้น การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตั้งตนไว้ในธรรม.

ภารท๎วาชะ ! อุสสาหะ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม : ถ้าบุคคลไม่พึงมีอุสสาหะแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงพบซึ่งความสมดุลแห่งธรรม. เพราะเหตุที่เขามีอุสสาหะ เขาจึงพบความสมดุลแห่งธรรม ; เพราะเหตุนั้น อุสสาหะจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม.

ภารท๎วาชะ ! ฉันทะ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่อุสสาหะ : ถ้าบุคคลไม่พึงยังฉันทะให้เกิดแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงมีอุสสาหะ. เพราะเหตุที่ฉันทะเกิดขึ้น เขาจึงมีอุสสาหะ ; เพราะเหตุนั้น ฉันทะจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่อุสสาหะ.

ภารท๎วาชะ ! ความที่ธรรมทั้งหลายทนได้ต่อการเพ่งพินิจ(ธมฺมนิชฺ-ฌานกฺขนฺติ) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ : ถ้าธรรมทั้งหลายไม่พึงทนต่อการเพ่งพินิจแล้วไซร้ ฉันทะก็ไม่พึงเกิด. เพราะเหตุที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ ฉันทะจึงเกิด ; เพราะเหตุนั้น ความที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ.

ภารท๎วาชะ ! ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ (อตฺถุปปริกฺขา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ : ถ้าบุคคลไม่เข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะแล้วไซร้ ธรรมทั้งหลายก็ไม่พึงทนต่อการเพ่งพินิจ. เพราะเหตุที่บุคคลเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ ธรรมทั้งหลายจึงทนต่อการเพ่งพินิจ ; เพราะเหตุนั้น การเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ.

ภารท๎วาชะ ! การทรงไว้ซึ่งธรรม (ธมฺมธารณา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ. ถ้าบุคคลไม่ทรงไว้ซึ่งธรรมแล้วไซร้เขาก็ไม่อาจเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะได้ เพราะเหตุที่เขาทรงธรรมไว้ได้ เขาจึงเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะได้. เพราะเหตุนั้น การทรงไว้ซึ่งธรรม จึงเป็นธรรมมี อุปการะมากแก่ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ.

ภารท๎วาชะ ! การฟังซึ่งธรรม (ธมฺมสฺสวน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงไว้ซึ่งธรรม. ถ้าบุคคลไม่พึงฟังซึ่งธรรมแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงทรงธรรมไว้ได้ เพราะเหตุที่เขาฟังซึ่งธรรม เขาจึงทรงธรรมไว้ได้. เพราะเหตุนั้น การฟังซึ่งธรรม จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงไว้ซึ่งธรรม.

ภารท๎วาชะ ! การเงี่ยลงซึ่งโสตะ (โสตาวธาน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังซึ่งธรรม. ถ้าบุคคลไม่เงี่ยลงซึ่งโสตะแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงฟังซึ่งธรรมได้ เพราะเหตุที่เขาเงี่ยลงซึ่งโสตะ เขาจึงฟังซึ่งธรรมได้. เพราะเหตุนั้น การเงี่ยลงซึ่งโสตะ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังซึ่งธรรม.

ภารท๎วาชะ ! การเข้าไปนั่งใกล้ (ปยิรุปาสนา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยลงซึ่งโสตะ. ถ้าบุคคลไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้แล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงเงี่ยลงซึ่งโสตะ เพราะเหตุที่เขาเข้าไปนั่งใกล้ เขาจึงเงี่ยลงซึ่งโสตะได้. เพราะเหตุนั้น การเข้าไปนั่งใกล้ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยลงซึ่งโสตะ.

ภารท๎วาชะ ! การเข้าไปหา (อุปสงฺกมน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้. ถ้าบุคคลไม่เข้าไปหาแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้ได้เพราะเหตุที่เขาเข้าไปหา เขาจึงเข้าไปนั่งใกล้ได้. เพราะเหตุนั้น การเข้าไปหาจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้.

ภารท๎วาชะ ! สัทธา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา. ถ้าสัทธาไม่พึงเกิดแล้วไซร้ เขาก็จะไม่เข้าไปหา เพราะเหตุที่สัทธาเกิดขึ้น เขาจึงเข้าไปหา เพราะเหตุนั้น สัทธาจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การไปหา. 


ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๒
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาค ๑
หน้าที่ ๙๐ - ๙๓
ม. ม. ๑๓/๖๐๑-๖๐๘/๖๕๕-๖๕๙.





Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment