/> บุรุษตามืดบอด ผู้ถูกลวงด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่า | รัตนะ5 พุทธวจน

บุรุษตามืดบอด ผู้ถูกลวงด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่า

Image Credit : Spiritual blindness
บุรุษตามืดบอด ผู้ถูกลวงด้วยผ้าเนื้อเลวเปื้อนเขม่า
ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อท่านพระโคดมอย่างนี้แล้ว ท่านพระโคดมย่อมทรงสามารถ เพื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า โดยประการที่ให้รู้ความไม่มีโรค ให้เห็นนิพพานได้


มาคัณฑิยะอาราธนาพระพุทธเจ้าแสดงธรรม

[๒๘๙] ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อท่านพระโคดมอย่างนี้แล้ว ท่านพระโคดมย่อมทรงสามารถ เพื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า โดยประการที่ให้รู้ความไม่มีโรค ให้เห็นนิพพานได้

ดูกรมาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด ไม่ได้เห็นรูปดำและขาว ไม่ได้ เห็นรูปสีเขียว ไม่ได้เห็นรูปสีเหลือง ไม่ได้เห็นรูปสีแดง ไม่ได้เห็นรูปสีชมพู ไม่ได้เห็นที่ อันเสมอและไม่เสมอ ไม่ได้เห็นรูปหมู่ดาว ไม่ได้เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา พึงตั้งแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดให้รักษา แพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดนั้น ได้ทำยารักษาเขา เขาอาศัยยานั้นแล้วก็เห็นไม่ได้ ทำจักษุให้ใสไม่ได้ ดูกรมาคัณฑิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน แพทย์ต้องมีส่วนแห่งความลำบาก ความคับแค้นสักเพียงไร มิใช่หรือ?

อย่างนั้น ท่านพระโคดม

ดูกรมาคัณฑิยะ เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน พึงแสดงธรรมแก่ท่านว่า ความไม่มีโรคนั้น คือสิ่งนี้ นิพพานนั้นคือสิ่งนี้ ดังนี้ ท่านนั้นก็พึงรู้ความไม่มีโรคไม่ได้ พึงเห็นนิพพานไม่ได้ อันนั้น พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อย เป็นความลำบากแก่เรา

[๒๙๐] ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อท่านพระโคดมด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ท่านพระโคดมย่อม ทรงสามารถเพื่อแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า โดยประการที่ให้รู้ความไม่มีโรค ให้เห็นนิพพานได้

ดูกรมาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดมาแต่กำเนิด เขาไม่ได้เห็นรูปดำและขาว ไม่ได้เห็นรูปสีเขียว ไม่ได้เห็นรูปสีเหลือง ไม่ได้เห็นรูปสีแดง ไม่ได้เห็นรูปสีชมพู ไม่ได้เห็น ที่อันเสมอและไม่เสมอ ไม่ได้เห็นรูปหมู่ดาว ไม่ได้เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ 

แต่เขาได้ฟัง ต่อคนที่มีจักษุซึ่งกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้เจริญ ผ้าขาวผ่องงาม ไม่มีมลทินสะอาดหนอ บุรุษตาบอดแต่กำเนิดนั้น พึงเที่ยวแสวงหาผ้าขาวผ่อง บุรุษคนหนึ่งเอาผ้าเทียมเปื้อนเขม่ามาลวงเขานั้นว่า บุรุษผู้เจริญ ผ้าของท่านผืนนี้ขาวผ่องงามไม่มีมลทินสะอาด เขารับผ้านั้นมาห่ม มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา ตั้งแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดให้รักษา แพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดนั้น ทำยา ถอนให้อาเจียร ยาถ่ายให้ลง ยาหยอด ยาหยอดซ้ำ ยานัตถุ์ เขาอาศัยยานั้นแล้วเห็นได้ ชำระตาให้ใสได้ เขาย่อมละความรักด้วยสามารถความพอใจในผ้าเทียมเปื้อนเขม่าโน้นได้ พร้อมกับตาเห็น เขาพึงเบียดเบียนบุรุษที่ลวงตนนั้นโดยความเป็นศัตรู โดยความเป็นข้าศึก

อนึ่ง เขาพึงสำคัญบุรุษที่ลวงตนนั้นว่า ควรปลงชีวิตเสียด้วยความแค้นว่า บุรุษผู้เจริญ เราถูกบุรุษผู้นี้ เอาผ้าเทียมเปื้อนเขม่ามาลวงให้หลงว่า บุรุษผู้เจริญ ผ้าของท่านนี้ขาวผ่องงามไม่มีมลทินสะอาด ดังนี้ มานานหนอ ฉันใด ดูกรมาคัณฑิยะ เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าแสดงธรรมแก่ท่านว่า ความไม่มีโรคนั้นคือข้อนี้ นิพพานนั้นคือข้อนี้ ท่านนั้นพึงรู้ ความไม่มีโรค พึงเห็นนิพพานได้ ท่านนั้นก็จะละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในขันธ์ที่มีอุปาทานทั้งห้าได้ พร้อมกับความเห็นเกิดขึ้น อนึ่ง ท่านพึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ

เราถูกจิตนี้ล่อลวงให้หลงมานานแล้วหนอ เราเมื่อยึดมั่น ก็ยึดมั่นแต่รูปเท่านั้น เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่เวทนาเท่านั้น เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่สัญญาเท่านั้น เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่สังขารเท่านั้น เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่วิญญาณเท่านั้น

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยภพจึงมีแก่เรานั้น เพราะภพนั้นเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

[๒๙๑] ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อพระโคดมอย่างนี้แล้ว ท่านพระโคดมย่อมทรงสามารถ เพื่อแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า โดยประการที่ข้าพเจ้าไม่เป็นคนบอด ลุกขึ้นจากอาสนะนี้ได้

ดูกรมาคัณฑิยะ ถ้าเช่นนั้น ท่านควรคบสัตบุรุษ เพราะเมื่อใดท่านคบสัตบุรุษ เมื่อนั้นท่านจักได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ เมื่อท่านได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ ท่านจักปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อท่านปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ท่านจักรู้เอง เห็นเองว่า โรค ฝี ลูกศร คืออันนี้ โรค ฝี ลูกศร จะดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้

เพราะอุปาทานของเรานั้นดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
หน้า ๒๑๘ - ๒๒๐ ข้อที่ ๒๘๙ - ๒๙๑





Booking.com

Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment