/> โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ | รัตนะ5 พุทธวจน

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

ที่มาภาพ: Google


ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้น พวกเธอทั้งหลาย พึงรับเอาให้ดี พึงเสพให้ทั่วถึง พึงอบรม กระทำให้มาก โดยอาการที่พรหมจรรย์นี้ จักมั่นคง ดำรงอยู่ได้ ตลอดกาลนาน ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง? ธรรมเหล่านั้นได้แก่

  • สติปัฏฐาน ๔ 
  • สัมมัปปธาน ๔ 
  • อิทธิบาท ๔ 
  • อินทรีย์ ๕ 
  • พละ ๕ 
  • โพชฌงค์ ๗ 
  • อริยมรรคมีองค์ ๘. 
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเหล่านี้แล ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นสิ่งที่พวกเธอทั้งหลาย พึงรับเอาให้ดี พึงเสพให้ทั่วถึง พึงอบรม กระทำให้มากโดยอาการที่พรหมจรรย์นี้ จักมั่นคง ดำรงอยู่ได้ ตลอดกาลนาน ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก, และเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ทั้งหลาย.

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีรายละเอียดดังนี้

สติปัฏฐาน๔

  • กาย
  • เวทนา
  • จิต
  • ธรรม
สัมมัปปธาน๔
  • สังวรปธาน คือ เพียรเพื่อไม่ให้อกุศลธรรม (ที่ยังไม่เกิด) เกิดขึ้น
  • ปหานปธาน คือ เพียรเพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
  • ภาวนาปธาน คือ เพียรเพื่อให้กุศลธรรม (ที่ยังไม่เกิด) เกิดขึ้น
  • อนุรักขนาปธาน คือ เพียรเพื่อความเจริญ มั่นคง บริบูรณ์ของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
อิทธิบาท ๔
  • ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
  • วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
  • จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
  • วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น
อินทรีย์ ๕
  • สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธาเป็นใหญ่ในอารมณ์ เป็นศรัทธา อันแรงกล้าในจิตใจ ซึ่งอกุศลไม่อาจทำให้ศรัทธานั้นเสื่อมคลายได้
  • วิริยินทรีย์ มีความเพียรเป็นใหญ่ และต้องเป็นความเพียรที่บริบูรณ์ด้วยองค์ 4 แห่งสัมมัปปธาน
  • สตินทรีย์ สติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ปัจจุบัน อันเกิดจาก สติปัฏฐาน 4
  • สมาธินทรีย์ การทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ไม่ฟุ้งซ่าน
  • ปัญญินทรีย์ ปัญญาทำหน้าที่เป็นใหญ่ด้วยการรู้แจ้งเห็นจริงว่าขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พละ ๕
  • ศรัทธาพละ ไม่หวั่นไหวต่อความไม่มีศรัทธา
  • วิริยพละ ไม่หวั่นไหวต่อความเกียจคร้าน
  • สติพละ ไม่หวั่นไหวต่อการหลงลืมสติ
  • สมาธิพละ ไม่หวั่นไหวต่อความฟุ้งซ่าน
  • ปัญญาพละ ไม่หวั่นไหวต่อความไม่รู้
โพชฌงค์ ๗
  • สติ ความระลึกได้
  • ธรรมวิจยะ การวินิจฉัยธรรม
  • วิริยะ ความเพียร
  • ปีติ ความอิ่มใจ
  • ปัสสัทธิ ความสงบ
  • สมาธิ จิตตั้งมั่น
  • อุเบกขา ความวางเฉย
อริยมรรคมีองค์ ๘
  • สัมมาทิฐิ : ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔ (คือเห็นว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่และความตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากสิ่งที่รัก ประสบสิ่งที่ไม่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่สมหวังสิ่งเหล่านี้ก็เป็นทุกข์ การเอาชนะความคิดดีหรือชั่วไม่ได้ ปัดให้ออกจากตัวทันทีไม่ได้ก็เป็นทุกข์)
  • สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ คือคิดออกจากกาม ไม่คิดพยาบาท และคิดที่จะไม่เบียดเบียนใคร
  • สัมมาวาจา : วาจาชอบ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ 
  • สัมมากัมมันตะ : กระทำชอบ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  • สัมมาอาชีวะ :เลี้ยงชีวิตชอบ คือ การประกอบอาชีพแต่ในทางสุจริต ไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ผิดจากหน้าที่อันควร
  • สัมมาวายามะ : ความเพียรชอบ คือ เพียรในที่ ๔ สถาน (พยายามละอกุศลที่ยังไม่ได้ละ…อันไหนที่ละได้แล้วก็พยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก พยายาทำให้กุศลเกิดขึ้น…อันไหนที่มีเกิดขึ้นแล้วก็พยายามทำให้เจริญยิ่ง ขึ้น)
  • สัมมาสติ : ระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐาน ๔…กาย เวทนา จิต ธรรม (พยายามให้มีสติอยู่กับตัวเสมอ พยายามที่จะฝึกในแง่ที่จะทำให้กิเลสเบาบางลง)
  • สัมมาสมาธิ : สมาธิชอบ (ตั้งใจมั่นชอบ) คือ เจริญฌานทั้ง ๔ (หมายถึงการเข้าสมาธิที่เป็นไปเพื่อละนิวรณ์โดยตรง คือตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป)
*****************************

[๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นอันว่าพวกเธอมีความดำริในเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความอนุเคราะห์แสดงธรรม เพราะฉะนั้นแลธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุผู้กล่าวต่างกันในธรรมอันยิ่ง เป็นสองรูป ฯ

พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment