/> การเห็นตามความเป็นจริง | รัตนะ5 พุทธวจน

การเห็นตามความเป็นจริง

อนิจจสัญญา
ที่มาภาพ: Google

[๘๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุตามความเป็นจริง
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นรูปตามความเป็นจริง 
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุวิญญาณตามความเป็นจริง 
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุสัมผัสตามความเป็นจริง  
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง 
ย่อมไม่กำหนัดในจักษุ ไม่กำหนัดในรูป ไม่กำหนัดในจักษุวิญญาณ ไม่กำหนัดในจักษุสัมผัส ไม่กำหนัดในความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม  ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดนักแล้ว ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็นโทษอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความไม่พอกพูนต่อไป และเขาจะละตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆได้ จะละความกระวนกระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ เขาย่อมเสวยสุขทางกายบ้าง สุขทางใจบ้าง

บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว
  • มีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฐิ 
  • มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ 
  • มีความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ 
  • มีความระลึกอันใดความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ 
  • มีความตั้งใจอันใด ความตั้งใจอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ  
  • ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา  ย่อมบริสุทธิ์ดีในเบื้องต้นเทียว 
ด้วยอาการอย่างนี้ เขาชื่อว่ามีอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐถึงความเจริญบริบูรณ์ ฯ

[๘๒๙]  เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐนี้อยู่อย่างนี้ ชื่อว่า มีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ถึงความเจริญบริบูรณ์

บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือสมถะและวิปัสสนาคู่เคียงกันเป็นไป เขาชื่อว่า
  • กำหนดรู้ธรรมที่ควรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง 
  • ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง 
  • เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง  
  • ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน มีข้อที่เรากล่าวไว้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์ คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือสังขาร คือวิญญาณ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คืออวิชชา และภวตัณหา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือสมถะและวิปัสสนา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือวิชชาและวิมุตติ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ

[๘๓๐]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นโสตะ  ตามความเป็นจริง  ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นฆานะ  ตามความเป็นจริง  ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นชิวหา  ตามความเป็นจริง  ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นกาย  ตามความเป็นจริง  ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นมโนตามความเป็นจริง
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นธรรมารมณ์ตามความเป็นจริง 
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นมโนวิญญาณตามความเป็นจริง  
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นมโนสัมผัสตามความเป็นจริง 
  • เมื่อรู้เมื่อเห็นความเสวย อารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง 
ย่อมไม่กำหนัดในมโน ไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ ไม่กำหนัดในมโนวิญญาณ ไม่กำหนัดในมโนสัมผัส ไม่กำหนัดในความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดนักแล้ว ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็นโทษอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความไม่พอกพูนต่อไป และเขาจะละตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆได้ จะละความกระวนกระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ เขาย่อมเสวยสุขทางกายบ้าง สุขทางใจบ้าง

บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว
  • มีความเห็นอันใดความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฐิ 
  • มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ 
  • มีความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ 
  • มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ 
  • มีความตั้งใจอันใด ความตั้งใจอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ 
  • ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขาย่อมบริสุทธิ์ในเบื้องต้นเทียว 
ด้วยอาการอย่างนี้ เขาชื่อว่ามีอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐถึงความเจริญบริบูรณ์ ฯ

[๘๓๑] เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ถึงความเจริญบริบูรณ์

บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือ สมถะและวิปัสสนาคู่เคียงกันเป็นไป เขาชื่อว่า
  • กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง 
  • ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง 
  • เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง 
  • ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน มีข้อที่เรากล่าวไว้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือสังขาร คือวิญญาณ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแลฯ
     
จบ  สฬายตนวิภังคสูตร  ที่  ๗

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
หน้าที่ ๓๙๕ ข้อที่ ๘๒๘ - ๘๓๐

Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment