/> ความเห็นผิดเรื่องกรรม | รัตนะ5 พุทธวจน

ความเห็นผิดเรื่องกรรม

ที่มาภาพ: dailymail

สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใด ๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะการบันดาลของเจ้าเป็นนาย




ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธิเหล่านี้มีอยู่, เป็นลัทธิซึ่งแม้บัณฑิตจะพากันไตร่ตรอง จะหยิบขึ้นตรวจสอบ จะหยิบขึ้นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร แม้จะบิดผันกันมาอย่างไร ก็ชวนให้น้อมไปเพื่อการไม่ประกอบกรรมที่ดีงามอยู่นั่นเอง

ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธินั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ๓ ลัทธิคือ

(๑) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใด ๆ ก็ตามที่ได้รับสุข รับทุกข์หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน” ดังนี้


(๒) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใด ๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะการบันดาลของเจ้าเป็นนาย” ดังนี้


(๓) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใด ๆ ก็ตามที่ได้รับสุข หรือได้รับทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย” ดังนี้


ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดจากกรรมเก่าอย่างเดียว


ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ เพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนอย่างเดียว” มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว

เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ...พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท ... มีความเห็นวิปริต เหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ในเวลานี้) นั่นก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน

เมื่อมัวแต่ถือเอากรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนมาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริง ๆ จัง ๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้

ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดจากเทพเจ้าบันดาลให้

ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะอิศวรเนรมิตให้ (อิสฺสรนิมฺมานเหตูติ)” ดังนี้มีอยู่ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว

เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น (ในบัดนี้) คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท มีความเห็นวิปริต เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องเป็นเพราะการเนรมิตของอิศวรด้วย 

ก็เมื่อมัวแต่ถือเอาการเนรมิตของอิศวร มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำหรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจ และอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริง ๆ จัง ๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้

ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย


ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้งสามนั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเลย” ดังนี้ มีอยู่, เราเข้าไปหาสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สอบถามความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว

เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น(ในบัดนี้) คนที่ฆ่าสัตว์ … ลักทรัพย์ … ประพฤติผิดพรหมจรรย์ … พูดเท็จ … พูดคำหยาบ … พูดยุให้แตกกัน… พูดเพ้อเจ้อ … มีใจละโมบเพ่งเล็ง … มีใจพยาบาท …มีความเห็นวิปริต เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเลยด้วย 

ก็เมื่อมัวแต่ถือเอาความไม่มีอะไร เป็นเหตุเป็นปัจจัยเลย มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำ ในข้อที่ว่าสิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ (อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจไม่ถูกทำ หรือถูกละเว้นให้จริง ๆ จัง ๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตน ว่าเป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้.” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล แง่สำหรับข่มอย่างเป็นธรรม แก่สมณพราหมณ์ ทั้งหลาย ผู้มีถ้อยคำและความเห็นเช่นนั้น แง่ที่สาม 


ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๕
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
หน้าที่ ๔๑๑

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๑๖๗ - ๑๖๘ ข้อที่ ๕๐๑










Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment