/> ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา | รัตนะ5 พุทธวจน

ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง



สุภูติสูตร

[๒๒๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระสุภูติกับสัทธภิกษุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสุภูติว่า ดูกรสุภูติ ภิกษุนี้ชื่อไรท่านพระสุภูติกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ชื่อว่าสัทธะ เป็นบุตรอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระเจ้าข้า ฯ

ดูกรสุภูติ ก็สัทธภิกษุนี้เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตด้วย ศรัทธา ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายแลหรือ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์จักทราบบัดนี้ว่า ภิกษุนี้จะเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือไม่ ฯ

ดูกรสุภูติ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระสุภูติทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

  • ดูกรสุภูติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ แม้นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็น ผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทนเป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพแม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกรณียกิจทั้งสูงและต่ำของเพื่อน สพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้นอาจทำ อาจจัดได้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ฯลฯ อาจทำ อาจจัดได้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม กล่าวคำเป็นที่รัก เป็นผู้มีความปราโมทย์อย่างยิ่ง ในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้กล่าวคำอันเป็นที่รักมีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุปรารภความเพียร ฯลฯ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดูกรสุภูติข้อที่ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้างยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้นมีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น เสวยสุขมีอาหารอย่างนั้น เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ ดูกรสุภูติข้อที่ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป จึงต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ 

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระสุภูติ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนี้นั้น มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ และภิกษุนี้ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้ 


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้เป็นเป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย 

ภิกษุนี้เป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง 

ภิกษุนี้เป็นผู้มีมิตรดีมีสหายดี มีเพื่อนดี ภิกษุนี้เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับเอาอนุศาสนีย์โดยเคารพ 

ภิกษุนี้เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในกรณียกิจทั้งหลายทั้งสูงและต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้ 

ภิกษุนี้เป็นผู้ใคร่ในธรรม กล่าวคำอันเป็นที่รัก เป็น ผู้มีความปราโมทย์ยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ภิกษุนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม 

ภิกษุนี้เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ภิกษุนี้ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้างสองชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ 

ภิกษุนี้พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ เธอย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ภิกษุนี้ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนี้ มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ อนึ่ง ภิกษุนี้จักปรากฏในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้พระเจ้าข้า ฯ

ดีละๆ สุภูติ ดูกรสุภูติ ถ้าเช่นนั้นเธอพึงอยู่กับสัทธภิกษุนี้เถิด ดูกรสุภูติ อนึ่งเธอพึงหวังจะมาเยี่ยมเยือนตถาคตในกาลใด ในกาลนั้น เธอกับสัทธภิกษุนี้ พึงเข้ามาเยี่ยมเยือนตถาคตเถิด ฯ

จบสูตรที่ ๔

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต






Booking.com
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments:

Post a Comment