Pages

Pages

Sunday, March 6, 2016

กาลามสูตร โดยบัญญัติพระศาสดา

Photo Credit : watnapp
กาลามสูตร
เมื่อใดท่านทั้งหลาย รู้ด้วยตนเองว่า “ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้ มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล” ดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ท่าน พึงละธรรมเหล่านั้นเสีย


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มาสู่เกสปุตตนิคมนี้ แสดงวาทะอันเป็นลัทธิแห่งตน กล่าวบริภาษข่มขี่ครอบงำย่ำยีวาทะอันเป็นลัทธิ อันเป็นของสมณพราหมณ์เหล่าอื่น แม้สมณพราหมณ์พวกอื่นมาอีก ก็ยกย่องลัทธิของตน ข่มขี่ลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเช่นเดียวกันอีก พวกข้าพระองค์มีความข้องใจ มีความสงสัย ว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกไหนพูดจริง พวกไหนพูดเท็จ พระเจ้าข้า !” กาลามเอ๋ย ! ควรแล้วที่ท่านจะข้องใจ ควรแล้วที่ท่านจะสงสัย, ความสงสัยของท่านเกิดแล้ว ในฐานะที่ควรข้องใจ

(ก. ฝ่ายอกุศล)

กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :- 

  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางตรรกคาดคะเน (ตกฺกเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางนัยะสันนิฏฐาน (นยเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา) ; 
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าสมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณโน ครุ)

กาลาม ทั้งหลาย ! เมื่อใดท่านทั้งหลาย รู้ด้วยตนเองว่า “ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้ มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล” ดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ท่าน พึงละธรรมเหล่านั้นเสีย

กาลาม ทั้งหลาย ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ความโลภ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลหรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? 

“เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” 

บุคคลนั้นโลภแล้ว ความโลภครอบงำแล้ว ความโลภกลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมลักทรัพย์บ้าง ย่อมล่วงเกินภรรยา ผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้นบ้าง ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? 

“อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” 

กาลาม ทั้งหลาย ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร โทสะ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลหรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? 

“เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” 

บุคคลนั้นมีโทสะแล้ว โทสะครอบงำแล้ว โทสะกลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมลักทรัพย์บ้าง ย่อมล่วงเกินภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้นบ้าง ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? 

“อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” 

กาลาม ทั้งหลาย ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร โมหะ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลหรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? 

“เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” 

บุคคลนั้นมีโมหะแล้ว โมหะครอบงำแล้ว โมหะกลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมฆ่าสัตย์บ้าง ย่อมลักทรัพย์บ้าง ย่อมล่วงเกินภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้นบ้าง ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? 

“อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” 

กาลาม ทั้งหลาย ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ธรรมทั้งหลาย (ตามที่กล่าวมา) เหล่านี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ? 

“เป็นอกุศล พระเจ้าข้า !” 

มีโทษหรือไม่มีโทษ ? 

“มีโทษ พระเจ้าข้า !” 

วิญญูชนติเตียน หรือวิญญูชน สรรเสริญ ? 

“วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า !” 

เมื่อประพฤติกระทำเต็มตามมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล หรือไม่ ? หรือว่าในเรื่องนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ? 

“เมื่อประพฤติกระทำเต็มตามมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ในเรื่องนี้พวกข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า !” 

กาลาม ทั้งหลาย ! เรา (อาศัยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างบนทั้งหมดนั้น) จึงกล่าวข้อความที่กล่าวว่า “กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :- 

  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการใช้เหตุผลทางตรรก (ตกฺกเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการใช้เหตุผลทางนัยะ (นยเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการตรึกตามอาการ(อาการปริวิตกฺก)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา) ; 
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าสมณะผู้พูดเป็นครูของตน(สมโณโน ครุ)


กาลาม ทั้งหลาย ! เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า “ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้ มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล” ดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ท่านถึงละธรรมเหล่านั้นเสีย” ดังนี้ ซึ่งเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยเหตุผลข้างต้นนั้น 

( ข. ฝ่ายกุศล) 

กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :- 

  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางตรรกคาดคะเน (ตกฺกเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางนัยะสันนิฏฐาน (นยเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา) ; 
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าสมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณโน ครุ)


กาลาม ทั้งหลาย ! เมื่อใดท่านทั้งหลาย รู้ด้วยตนเองว่า “ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์ เกื้อกูล” ดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ท่าน พึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น แล้วแลอยู่เถิด

กาลาม ทั้งหลาย ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ความไม่โลภ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? 

“เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” 

บุคคลนั้นไม่โลภแล้ว ความโลภไม่ครอบงำแล้ว ความโลภไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว เขาย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? 

“อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” 

กาลาม ทั้งหลาย ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : อโทสะ เกิดขึ้น ในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? 

“เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” 

บุคคลนั้นไม่มีโทสะแล้ว โทสะไม่ครอบงำแล้ว โทสะไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว เขาย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? 

“อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” 

กาลาม ทั้งหลาย ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : อโมหะ เกิดขึ้น ในบุคคแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? “เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” บุคคลนั้นไม่มีโมหะแล้ว โมหะไม่ครอบงำแล้ว

โมหะไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว เขาย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? 

“อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” 

กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ธรรมทั้งหลาย (ตามที่กล่าวมา) เหล่านี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ? 

“เป็นกุศล พระเจ้าข้า !” 

มี โทษหรือไม่มีโทษ ? 

“ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า !” 

วิญญูชนติเตียน หรือวิญญูชน สรรเสริญ ? 

“วิญญูชนสรรเสริญ พระเจ้าข้า !” 

เมื่อประพฤติกระทำเต็มตาม มาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล หรือไม่ ? หรือว่า ในเรื่องนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ? 

“เมื่อประพฤติกระทำเต็มตามาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ในเรื่องพวกนี้ข้าพระองค์มีความเห็น อย่างนี้ พระเจ้าข้า ! ” 

กาลาม ทั้งหลาย ! เรา (อาศัยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างบนทั้งหมดนั้น) จึงกล่าวข้อความที่กล่าวว่า “กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :- 

  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการใช้เหตุผลทางตรรก (ตกฺกเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการใช้เหตุผลทางนัยะ (นยเหตุ)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ) 
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา)
  • อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าสมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณโน ครุ)

กาลาม ทั้งหลาย ! เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ‘ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์ เกื้อกูล’ ดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ท่านพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น แล้วแลอยู่เถิด ดังนี้ ซึ่งเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยเหตุผลข้างต้นนั้น 

กาลาม ทั้งหลาย ! อริยสาวกนั้น ปราศจากอภิชฌาอย่างนี้ ปราศจากพยาบาทอย่างนี้ ไม่มีโมหะ มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า 

มีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้อต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยเมตตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วย คุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่

มีจิตสหรคตด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้อบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยกรุณา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่

มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยมุทิตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวง ไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่ 

มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยอุเบกขา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่ 

กาลาม ทั้งหลาย ! อริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตหมดจด วิเศษอย่างนี้ แล้ว ความเบาใจ ๔ ประการ ย่อมเกิดมีแก่อริยสาวกนั้น ในทิฏฐธรรมเทียว ว่า


  1. ถ้าปรโลกมี ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี. ฐานะที่จะมีได้ก็คือ เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เพราะเหตุนั้น ดังนี้ นี้เป็นความเบาใจประการที่หนึ่ง ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น
  2. ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี, เรา ที่นี่ในทิฏฐธรรมนี้แหละ ก็บริหารตนอยู่เป็นสุข ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไม่มีทุกข์ ดังนี้ นี้เป็นความเบาใจประการที่สอง ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น 
  3. ถ้าบาปเป็นอันกระทำสำหรับผู้กระทำ, ส่วนเราไม่ได้คิดจะทำบาปไรๆ ทุกข์จักถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปอยู่ แต่ที่ไหนดังนี้ นี้เป็นความเบาใจประการที่สาม ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น 
  4. ถ้าบาปไม่เป็นอันกระทำสำหรับผู้กระทำ อยู่แล้วไซร้, ที่นี่ เราก็มองเห็นตนว่าบริสุทธิ์หมดจดอยู่ โดยโลกทั้งสอง ดังนี้ นี้เป็นความเบาใจประการที่สี่ ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น

กาลาม ทั้งหลาย ! อริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตหมดจดวิเศษอย่างนี้ แล้ว ความเบาใจ ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมเกิดมีแก่อริยสาวกนั้น ในทิฏฐธรรมเทียว

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น. ข้าแต่พระสุคต ! ข้อนั้น เป็นอย่างนั้น . . . .”

(ชาวกาลามเหล่านั้น รับสนองพระพุทธดำรัสกล่าวย้ำข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยตน เอง, แล้วทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสก). 
 

ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๓
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาค ๒
หน้าที่ ๑๕๐๒ - ๑๕๑๑



Booking.com

No comments:

Post a Comment