[๒๐๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต ใกล้เมืองจาลิกา ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าไปบิณฑบาตใน ชันตุคาม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้
ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตใน เวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ท่านพระเมฆิยะเดินเที่ยวพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ กิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ ครั้นเห็นแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า อัมพวันนี้ช่างน่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอ ควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตใน ชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อข้าพระองค์เดินเที่ยวพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์ ครั้นเห็นแล้ว ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อัมพวันนี้น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอ ควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยัง อัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญเพียร เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ ท่านพระเมฆิยะว่า ดูกรเมฆิยะจงรออยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นมา แทนตัว ฯ
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันเพื่อบำเพ็ญความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรเมฆิยะ จงรออยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นมาแทนตัว ฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต ข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรเมฆิยะ เราจะพึงว่าอะไรเธอผู้กล่าวอยู่ว่า บำเพ็ญเพียร ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควร ในบัดนี้ ฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปยังอัมพวัน อาศัยอัมพวันนั้น นั่งพักกลางวันอยู่ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้นแล เมื่อท่าน พระเมฆิยะพักอยู่ ณ อัมพวันนั้น อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก ลำดับนั้น ท่านพระเมฆิยะได้มีความคิดดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาก็ยังถูกอกุศลวิตก อันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกครอบงำ ฯ
ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์อยู่ในอัมพวันนั้นอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก ข้าพระองค์นั้นได้มีความคิดเห็นดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญน่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ก็ยังถูก อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกครอบงำ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า
ดูกรเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรเมฆิยะ
ดูกรเมฆิยะ
- ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรม ประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
- อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรม ประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
- อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อับปิจฉกถาสันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
- อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการ ที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
- อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อม เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
ดูกรเมฆิยะ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตนจักได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา ฯลฯ วิมุตติญาณทัสสนกถา ตนจักปรารภความเพียร ฯลฯ ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม ตนจักมีปัญญา ฯลฯ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ดูกรเมฆิยะ ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้น คือ
- พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
- พึงเจริญเมตตาเพื่อละความพยาบาท
- พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
- พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ
ดูกรเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว ฯ
จบสูตรที่ ๓
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
Booking.com
No comments:
Post a Comment