ครั้งพุทกาลพระตถาคตตรัสกับอุทายิ !
กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่างคือ
รูปทั้งหลายที่จะพึงรู้สึกได้ด้วยตา อันเป็นรูปที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารักเป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ; เสียงทั้งหลายที่จะพึงรู้สึกได้ด้วยหู....;กลิ่นทั้งหลายที่จะพึงรู้สึกได้ด้วยจมูก....; รสทั้งหลายที่จะพึงรู้สึกได้ด้วยลิ้น....; โผฏฐัพพะทั้งหลายที่จะพึงรู้สึกได้ด้วยผิวกาย อันเป็นโผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
อุทายิ ! เหล่านี้แล กามคุณห้าอย่าง.
อุทายิ!สุขโสมนัสใดอาศัยกามคุณห้าเหล่านี้เกิดขึ้น นี้เรากล่าวว่า กามสุข มิฬ๎หสุข (สุขไม่สะอาดมีสุขเกิดทางท่อปัสสาวะเป็นต้น) ปุถุชนสุข อนริยสุข, เรากล่าวว่า สุขนั้นบุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรมีไม่ควรทำให้มาก และควรกลัว.
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมเข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ ; เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌานเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจ ในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้นไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ ; อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกายชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นปกติสุข ” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่ ; เพราะละสุขเสียได้และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในกาลก่อนเข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. นี้เรากล่าวว่าเนกขัมมสุข วิเวกสุข อุปสมสุขสัมโพธิสุข. เรากล่าวว่า สุขนั้นบุคคลควรเสพ ควรเจริญ ควรทำให้มาก และไม่ควรกลัว.
- อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๗๙๖ - ๗๙๗- ม. ม. ๑๓/๑๘๙-๑๙๐/๑๘๒-๑๘๓.
No comments:
Post a Comment